วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์

การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
การจัดการศึกษาทุกระดับมุ่งฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ รู้จักตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยอาศัยหลักฐานที่มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้ การพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์จะต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนสามารถจำแนก จัดหมวดหมู่ แจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น สู่การสรุปอย่างสมเหตุสมผล ครูจึงมีความจำเป็นต้องใส่ใจในการฝึกฝนให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์
การคิดวิเคราะห์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ บุคคลที่มีการคิดแบบวิเคราะห์จะเหนือกว่าบุคคลที่มีความคิดแบบอื่น ทั้งในด้านระดับการพัฒนาการและการใช้สติปัญญา
การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นทักษะการคิดขั้นสูง ประกอบด้วยทักษะย่อย 6 ทักษะได้แก่
1. ทักษะการรวมข้อมูลทั้งหมดมาจัดระบบให้ง่ายแก่การเข้าใจ
2. ทักษะการกำหนดแง่มุมที่จะวิเคราะห์โดยอาศัยความรู้เดิม และการค้นพบคุณสมบัติร่วมของกลุ่มข้อมูลบางกลุ่ม
3. ทักษะการกำหนดหมวดหมู่ในแง่มุมที่จะวิเคราะห์
4. ทักษะการแจกแจงข้อมูลที่มีอยู่ลงในแต่ละหมวดหมู่ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรง
5. ทักษะการนำข้อมูลที่แจกแจงแล้วในแต่ละหมวดหมู่มาจัดเรียงลำดับให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ
6. ทักษะการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างแต่ละหมวดหมู่ในแง่ของความมาก-น้อย ความสอดคล้อง-ความขัดแย้ง ผลทางบวก-ผลทางลบ ความเป็นเหตุ-เป็นผล และลำดับความต่อเนื่อง
การส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาความคิดเชิงวิเคราะห์และความคิดเชิงสร้างสรรค์อย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัวอาจกระทำได้โดยการจัดบรรยากาศด้านกายภาพ เช่น ลักษณะการจัดห้องเรียน ด้านสมอง เช่น การกระตุ้นให้นักเรียนหาคำตอบในเรื่องต่างๆ
การกระตุ้นให้คิด และด้านอารมณ์ เช่น เจตคติเชิงบวกของครูเป็นไปทางบวกนักเรียนจะรู้สึกมีอิสระในการคิดเชิงวิเคราะห์ แสดงออกและจินตนาการ
การจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ได้แก่ กาสร้างผังมโนทัศน์ การใช้เทคนิคในการตั้งคำถาม การทัศนศึกษา การสาธิต การทำโครงงาน การอภิปราย การระดมสมอง การโต้วาที การใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ การพยากรณ์ เป็นต้น
สรุป การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา ความรอบคอบและไหวพริบของผู้เรียน การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ สถานศึกษาควรส่งเสริมให้ครูมีความเข้าใจและมีความรู้ในเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้ผู้เรียนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมและประเทศชาติต่อไป


บทความจาก วารสารรามคำแหง ปีที่ 23 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2549 หน้า (131-137)
เขียนโดย รศ.ดร.ศักดิ์ศรี ปาณะกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น