วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์

การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
การจัดการศึกษาทุกระดับมุ่งฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ รู้จักตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยอาศัยหลักฐานที่มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้ การพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์จะต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนสามารถจำแนก จัดหมวดหมู่ แจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น สู่การสรุปอย่างสมเหตุสมผล ครูจึงมีความจำเป็นต้องใส่ใจในการฝึกฝนให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์
การคิดวิเคราะห์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ บุคคลที่มีการคิดแบบวิเคราะห์จะเหนือกว่าบุคคลที่มีความคิดแบบอื่น ทั้งในด้านระดับการพัฒนาการและการใช้สติปัญญา
การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นทักษะการคิดขั้นสูง ประกอบด้วยทักษะย่อย 6 ทักษะได้แก่
1. ทักษะการรวมข้อมูลทั้งหมดมาจัดระบบให้ง่ายแก่การเข้าใจ
2. ทักษะการกำหนดแง่มุมที่จะวิเคราะห์โดยอาศัยความรู้เดิม และการค้นพบคุณสมบัติร่วมของกลุ่มข้อมูลบางกลุ่ม
3. ทักษะการกำหนดหมวดหมู่ในแง่มุมที่จะวิเคราะห์
4. ทักษะการแจกแจงข้อมูลที่มีอยู่ลงในแต่ละหมวดหมู่ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรง
5. ทักษะการนำข้อมูลที่แจกแจงแล้วในแต่ละหมวดหมู่มาจัดเรียงลำดับให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ
6. ทักษะการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างแต่ละหมวดหมู่ในแง่ของความมาก-น้อย ความสอดคล้อง-ความขัดแย้ง ผลทางบวก-ผลทางลบ ความเป็นเหตุ-เป็นผล และลำดับความต่อเนื่อง
การส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาความคิดเชิงวิเคราะห์และความคิดเชิงสร้างสรรค์อย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัวอาจกระทำได้โดยการจัดบรรยากาศด้านกายภาพ เช่น ลักษณะการจัดห้องเรียน ด้านสมอง เช่น การกระตุ้นให้นักเรียนหาคำตอบในเรื่องต่างๆ
การกระตุ้นให้คิด และด้านอารมณ์ เช่น เจตคติเชิงบวกของครูเป็นไปทางบวกนักเรียนจะรู้สึกมีอิสระในการคิดเชิงวิเคราะห์ แสดงออกและจินตนาการ
การจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ได้แก่ กาสร้างผังมโนทัศน์ การใช้เทคนิคในการตั้งคำถาม การทัศนศึกษา การสาธิต การทำโครงงาน การอภิปราย การระดมสมอง การโต้วาที การใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ การพยากรณ์ เป็นต้น
สรุป การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา ความรอบคอบและไหวพริบของผู้เรียน การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ สถานศึกษาควรส่งเสริมให้ครูมีความเข้าใจและมีความรู้ในเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้ผู้เรียนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมและประเทศชาติต่อไป


บทความจาก วารสารรามคำแหง ปีที่ 23 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2549 หน้า (131-137)
เขียนโดย รศ.ดร.ศักดิ์ศรี ปาณะกุล

ไตรสิกขา

"ไตรสิกขา"
"ไตรสิกขา" คือการศึกษา ทั้ง ๓ มีหัวข้อตามหลักดังนี้
๑. อธิศีลศิกขา การฝึกศึกษาในด้านความประพฤติทางกาย วาจา และอาชีพ ให้มีชีวิตสุจริตและเกื้อกูล (Training in Higher Morality)
๒. อธิจิตตสิกขา การฝึกศึกษาด้านสมาธิ หรือพัฒนาจิตใจให้เจริญได้ที่ (Training in Higher Mentality หรือ Concentration)
๓. อธิจิตปัญญาสิกขา การฝึกศึกษาในปัญญาสูงขึ้นไป ให้รู้คิดเข้าใจมองเห็นตามเป็นจริง (Training in Higher Wisdom)
ไตรสิกขานี้ เมื่อนำมาแสดงเป็นคำสอนในภาคปฏิบัติทั่วไป ได้ปรากฏในหลักที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ( พุทธโอวาทที่เป็นหลักใหญ่ ๓ อย่าง ) คือ
• สพพปาปสส อกรณ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ( ศีล )
• กุสลสสูปสมปทา การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม (สมาธิ )
• สจิตตปริโยทปน การทำจิตของตนให้ผ่องใส (ปัญญา )
ไตรสิกขานี้ เรียกว่าเป็น “พหุลธัมมีกถา” คือคำสอนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงบ่อย และมีพุทธพจน์แสดงต่อเนื่องกันของ กระบวนการศึกษาฝึกอบรมที่เรียกว่าไตรสิกขา ดังนี้
“ ศีลเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาเป็นอย่างนี้ สมาธิทำศีลบ่มแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ปัญญาที่สมาธิบ่มแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก จิตที่ปัญญาบ่มแล้วย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยสิ้นเชิง คือ จากกมามสวะ ภวาสวะ และอวิชาชาสวะ”
ความสัมพันธ์แบบต่อเนื่องของไตรสิกขานี้ มองเห็นได้ง่ายแม้ในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ
(ศีล -> สมาธิ) เมื่อประพฤติดี มีความสัมพันธ์งดงาม ได้ทำประโยชน์อย่างน้อยดำเนินชีวิตโดยสุจริต มั่นใจในความบริสุทธิ์ของ ตน ไม่ต้องกลัวต่อการลงโทษ ไม่สะดุ้งระแวงต่อการประทุษร้ายของคู่เวร ไม่หวาดหวั่นเสียวใจต่อเสียงตำหนิหรือความรู้สึก ไม่ยอมรับของสังคม และไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ เพราะความรู้สึกเดือดร้อนรังเกียจในความผิดของตนเอง จิตใจก็เอิบอิ่ม ชื่นบานเป็นสุข ปลอดโปร่ง สงบ และแน่วแน่ มุ่งไปกับสิ่งที่คิด คำที่พูดและการที่ทำ
(สมาธิ -> ปัญญา) ยิ่งจิตไม่ฟุ้งซ่าน สงบ อยู่กับตัว ไร้สิ่งขุ่นมัว สดใส มุ่งไปอย่างแน่วแน่เท่าใด การรับรู้ การคิดพินิจพิจารณามอง เห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆก็ยิ่งชัดเจน ตรงตามจริง แล่น คล่อง เป็นผลดีในทางปัญญามากขึ้นเท่านั้น
อุปมาในเรื่องนี้ เหมือนว่าตั้งภาชนะน้ำไว้ด้วยดีเรียบร้อย ไม่ไปแกล้งสั่นหรือเขย่ามัน ( ศีล ) เมื่อน้ำไม่ถูกกวน คน พัด หรือเขย่า สงบนิ่ง ผงฝุ่นต่างๆ ก็นอนก้น หายขุ่น น้ำก็ใส (สมาธิ) เมื่อน้ำใส ก็มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน ( ปัญญา )
ในการปฏิบัติธรรมสูงขึ้นไป ที่ถึงขั้นจะให้เกิดญาณ อันรู้แจ้งเห็นจริงจนกำจัดอาสวกิเลสได้ ก็ยิ่งต้องการจิตที่สงบนิ่ง ผ่องใส มีสมาธิแน่วแน่ยิ่งขึ้นไปอีก ถึงขนาดระงับการรับรู้ทางอายตนะต่างๆ ได้หมด เหลืออารมณ์หรือสิ่งที่กำหนดไว้ใช้งาน แต่เพียงอย่างเดียว เพื่อทำการอย่างได้ผล จนสามารถกำจัดกวาดล้างตะกอนที่นอนก้นได้หมดสิ้น ไม่ให้มีโอกาสขุ่นอีกต่อไป
จากไตรสิกขาเป็นการศึกษาที่ให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติสุข ไม่ทำให้ใครเดือนร้อน ดำรงตนให้ปลอดภัย ปราศจากสิ่งที่เศร้าหมองทั้งปวง เป็นการฝึกที่สมดุลทั้งกายและจิต หากมนุษย์เราทุกคนสามารถประพฤติ ปฏิบัติไตรสิกขาได้ความขัดแย้งหรือ ปัญหาต่างๆก็จะหมดไป หรือเมื่อเกิดปัญหาใดก็ตามบุคคลเหล่านั้นก็จะฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ด้วยสติ ปัญญาที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาดและถูกทำนองครองธรรม ไม่ทำให้การแก้ปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่งไม่จบสิ้น สังคมในปัจจุบันมีปัญหาต่างๆมากมายเพราะแต่ละคนยังละกิเลส ความอยากได้ อยากมีไม่ได้ทำให้เกิดการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมาย คุณธรรม ค่านิยม เมื่อผิดศีลก็ขาดสมาธิที่จะกระทำสิ่งต่างๆ หวาดระแวงกลัวผลของความผิดเมื่อไม่มีสมาธิก็เจริญปัญญาได้ยาก
เราควรประพฤติดีปลูกฝังจิตสำนึกตนเองให้ดีก่อนและขยายผลไปสู่คนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ซึ่งเด็กจะต้องเฝ้ามองเราเป็นแบบอย่างซึ่งเห็นได้ง่าย เห็นอยู่เป็นประจำ เด็กเหล่านั้นจะค่อยๆซึมซับความดีไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ความเจริญทางวัตถุสูงขึ้นแต่ก็กดความดีงามในสังคมให้ต่ำลง หากวันนี้แต่ละคนไม่คิดที่จะเริ่มปลูกความดี สังคมแห่งความสุขคงหมดไป
ข้อมูลจากเว็บไซต์http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาสมอง


ทิปส์ในการพัฒนาสมอง


วนิษา เรซ หรือ หนูดี หญิงเก่งของไทย (อเมริกัน) จบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้าน ครอบครัวศึกษา
Family Studies มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ คอลเลจพาร์ค สหรัฐอเมริกา

ปริญญาโทเกียรตินิยมด้านวิทยาการทางสมอง (Neuroscience) ในโปรแกรม Mind, Brain and Education มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน เป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านอัจฉริยภาพ (เพียงคนเดียวในไทย) และผู้ชนะล้านที่ 15 รายการ "อัจฉริยะข้ามคืน" ประธานกรรมการ บริษัท อัจฉริยะสร้างได้ จำกัด ผู้อำนวยการโรงเรียนวนิษา เป็นผู้นำเสนอแนวคิด - คนทั่วไปก็สร้างและฝึกฝนให้เป็นอัจฉริยะได้เช่นกัน เขียนหนังสือ "อัจฉริยะสร้างได้"
1. จิบน้ำบ่อย ๆ สมองประกอบด้วยน้ำ 85 % เชลล์สมองก็เหมือนต้นไม้ที่ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงถ้าไม่มีน้ำ ต้นไม้ก็เหี่ยวถ้าไม่อยากให้เชลล์สมองเหี่ยวซึ่งส่งผลให้การส่งข้อมูลช้ากลายเป็นคนคิดช้าหรือคิดไม่ค่อยออก แต่ละวันจึงควรดื่มน้ำบ่อย ๆ
2. กินไขมันดี คนไม่ค่อยรู้ว่าสมองคือก้อนไขมัน ซึ่งจำเป็นต้องมีไขมันดีไปทดแทนส่วนที่สึกหรอ แนะนำให้กินไขมันดีระหว่างวัน จำพวกน้ำมันปลา สารสกัดใบแปะก๊วย ปลาที่มีไขมันดีอย่าง ปลาแซลมอนนมถั่วเหลืองวิตามินรวม น้ำมันพริมโรสเป็นน้ำมันดี ที่ทำให้เชลล์ชุ่มน้ำส่วนวิตามินซีกินแล้วสดชื่น
3. นั่งสมาธิวันละ 12 นาที หลังจากตื่นนอนแล้ว ให้ตั้งสติและนั่งสมาธิทุกเช้า วันละ 12 นาทีเพื่อให้สมองเข้าสู่ช่วงที่มีคลื่น Thetaซึ่งเป็นคลื่นที่ผ่อนคลายสุด ๆ ทำให้สมองมี Mental Imageryสามารถจินตนาการเห็นภาพและมีความคิดสร้างสรรค์ (ถ้าทำไม่ได้ตอนเช้า ) ให้หัดทำก่อนนอนทุกวัน
4. ใส่ความตั้งใจ การตั้งใจในสิ่งใดก็ตามเหมือนการโปรแกรมสมองว่านี่คือสิ่งที่ต้องเกิดระหว่างวันสมองจะปรับพฤติกรรมเราให้ไปสู่เป้าหมายนั้นทำให้ประสบความสำเร็จในสิ่งต่าง ๆ เพราะสมองไม่แยกระหว่างสิ่งที่ทำจริงกับสิ่งที่คิดขึ้นทั้งสองอย่างจึงเป็นเสมือนสิ่งเดียวกัน
5. หัวเราะและยิ้มบ่อย ๆ ทุกครั้งที่ยิ้มหรือหัวเราะ จะมีสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขหลั่งออกมาเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้มีความอยากรักและหวังดีต่อคนอื่นไปเรื่อยๆ
6. เรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวัน สิ่งใหม่ในที่นี้หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น กินอาหารร้านใหม่ ๆ รู้จักเพื่อนใหม่อ่านหนังสือเล่มใหม่ คุยกับเพื่อนร่วมงานและเรียนรู้วิธีการทำงานของเขา เป็นต้นเพราะการเรียนรู้สิ่งใหม่ทำให้สมองหลั่งสารเอ็นโดรฟิน และโดปามีนซึ่งเป็นสารแห่งการเรียนรู้กระตุ้นให้อยากเรียนรู้และสร้างสรรค์ ไปเรื่อยๆ เมื่อมีความสุขก็ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์
7. ให้อภัยตัวเองทุกวัน ขณะที่การไม่ให้อภัยตัวเอง โกรธคนอื่น โกรธตัวเอง ทำให้เปลืองพลังงานสมอง การให้อภัยตัวเองเป็นการลดภาระของสมอง
8. เขียนบันทึก Graceful Journal ฝึกเขียนขอบคุณสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละวันลงในสมุดบันทึก เช่น ขอบคุณที่มีครอบครัวที่ดี ขอบคุณที่มีสุขภาพที่ดีขอบคุณที่มีอาชีพที่ทำให้มีความสุข เป็นต้น เพราะการเขียนเรื่องดี ๆทำให้สมองคิดเชิงบวกพร้อมกับหลั่งสารเคมีที่ดีออกมา ช่วยให้หลับฝันดี ตื่นมาทำสมาธิได้ง่าย มีความคิดสร้างสรรค์
9. ฝึกหายใจลึก ๆ สมองใช้ออกชิเจน 20-25 % ของออกชิเจนที่เข้าสู่ร่างกาย การฝึกหายใจเข้าลึก ๆ จึงเป็นการส่งพลังงานที่ดีไปยังสมองควรนั่งหลังตรงเพื่อให้ออกชิเจนเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น ถ้านั่งทำงานนาน ๆอาจหาเวลายืนหรือเดินยึดเส้นยืดสายเพื่อให้ปอดขยายใหญ่สามารถหายใจเอาออกชิเจนเข้าปอดได้เพิ่มขึ้นอีก 20 %การมีสมองที่ดีก็เหมือนทักษะทุกอย่างในโลกที่เรียนรู้ได้ แต่จะเก่งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ถ้าเราดูแลและฝึกฝนสมองให้ดี คุณภาพชีวิตก็จะดีตาม

วนิษากล่าวว่า คนทั่วไปมักมองว่าคนที่เป็นอัจฉริยะมักจะหมกมุ่นอยู่กับตำรากองโต ใส่แว่นหนาเตอะและไม่ค่อยมีมนุษยสัมพันธ์ซึ่งมักเกิดกับคนในวงแคบ เช่น คนที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์หรือดนตรี แต่ความจริงแล้ว อัจฉริยภาพมีมากกว่านั้น ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ผู้คิดค้นทฤษฎีพหุปัญญาซึ่งเสนอว่ามนุษย์มีอัจฉริยภาพอย่างน้อย 8 ด้าน เพียงแต่บางด้านอาจเด่นกว่าด้านอื่นและขึ้นอยู่กับการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก

อัจฉริยภาพ 8 ด้านที่ว่า ได้แก่ อัจฉริยภาพด้านภาษาและการสื่อสาร อัจฉริยภาพด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว อัจฉริยภาพด้านมิติสัมพันธ์ อัจฉริยภาพด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจในตนเอง อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจผู้อื่นและมนุษยสัมพันธ์ อัจฉริยภาพด้านธรรมชาติและอัจฉริยภาพด้านดนตรี

สมองของคนเรามีน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 2 ของน้ำหนักร่างกายโดยสมองใช้ออกซิเจนร้อยละ 25 หรือ 1ใน 4 ของการใช้ออกซิเจนในร่างกายทั้งหมด สิ่งที่วนิษาพูดทำให้แปลกใจและลบความเชื่อหรือ


ความรู้เก่าเกี่ยวกับสมองไปได้เลย เพราะอัจฉริยภาพของคนไม่ได้อยู่ที่เซลล์สมองไม่ได้อยู่ที่น้ำหนักสมองและไม่ได้อยู่ที่รอยหยักของสมอง แต่อยู่ที่เส้นใยสมองและไมยีลินหรือไขมันสมองมาห่อหุ้ม เนื่องจากเซลล์สมองตายไปทุกวัน แต่จะมีการสร้างเส้นใยสมองใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยการทำซ้ำๆ กัน
ดังนั้น อัจฉริยภาพสร้างได้โดยการทำซ้ำๆ กันนั่นเอง เช่น หากเล่นเปียโนไม่เป็น แต่ถ้าฝึกทุกวันเป็นเวลา 2 ปี ก็จะเป็นคนใหม่ที่เป็นอัจฉริยภาพด้านเปียโนได้ อย่างไรก็ตามคนที่มีเส้นใยสมองมากที่สุดไม่ได้เป็นคนที่ฉลาดที่สุด เพราะสมองมีเนื้อที่จำกัดในการเก็บเส้นใยสมองสมองจึงมีการ "รีดทิ้ง" เส้นใยสมองในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในเวลานั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเด็กแรกเกิดมีเส้นใยสมองมากที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กคนเดียวกันในอายุ 6 ขวบ และ 14ปีและยิ่งโตขึ้นเส้นใยสมองยิ่งน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะโง่กว่าเดิม นั่นเป็นเพราะว่าสมองมีการจัดเก็บและมีแบบแผนในการเก็บเส้นใยสมอง อัจฉริยภาพทั้ง 8 ด้าน วนิษาเขียนไว้อย่างน่าอ่านและเข้าใจง่าย ไม่ใช่หนังสือแบบวิทยาศาสตร์หรือแบบเรียนหนักๆ แต่คนทั่วไปอ่านสนุกพร้อมๆ กับได้เคล็ดลับต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆ
จากที่ได้อ่านบทความทิปส์ในการพัฒนาสมอง ก็ได้ทราบว่าการพัฒนาสมองไม่ใช่เรื่องยากเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ในทุกๆวัน นอกจากจะพัฒนาสมองแล้ว ในเรื่องการฝึกการหายใจซึ่งหลายๆคนมองข้ามการหายใจที่ถูกวิธี ก็คือ การหายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ การดื่มน้ำและการรับประทานไขมันที่ดียังเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย ส่วนการนั่งสมาธิ การใส่ความตั้งใจ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการให้อภัยในข้อผิดพลาดของตัวเองในแต่ละวันช่วยให้การทำงาน การเรียนของเราดำเนินไปได้ดีและมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่มากขึ้น และที่สำคัญหนูขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งที่ท่านนอกจากจะให้ความรู้ในด้านวิชาการแล้ว ท่านยังทำให้หนูได้ยิ้มและหัวเราะทุกครั้งที่มาเรียน ให้หนูได้เขียน Entry Journal จากการศึกษาหาความรู้ต่างๆ มาจดบันทึก และการเขียน Entry Journal ในครั้งนี้ก็ช่วยให้หนูได้พัฒนาสมองอีกครั้ง ขอบพระคุณค่ะ

เนื้อหาจาก เว็บไซต์ http://campus.sanook.com/http://campus.sanook.com/u_life/knowledge_04944.php

การสอนและการพัฒนาทักษะการคิด

การสอนและการพัฒนาทักษะการคิด
(Instruction and Development of Thinking Skills)
ความสำคัญของทักษะการคิด (Thinking Skills)
ความสามารถในการคิดและทักษะการคิดมีความสำคัญยิ่งสำหรับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน เพราะความสามรถและทักษะในการคิดมีความจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต การดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในยุคข้อมูลข่าวสารความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังมีนักการศึกษากล่าวถึงความสำคัญของทักษะการคิดว่าในยุคศตวรรษที่ 21 ว่าทักษะที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการคิดของบุคคลและทักษะชีวิต (Life skills) เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสันติสุขในสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน คือ การส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดสร้างสรรค์ (Critical and Creative Thinking) เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะต้องได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) มีทักษะการคิด (Thinking skills) มีวิธีการแสวงหาความรู้และสร้างความรู้ได้ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์ (Gough 1991) อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าการส่งเสริมทักษะการคิดหรือความสามารถในการคิดยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จากผลการประเมินมาตรฐานโรงเรียนส่วนใหญ่นักเรียนมีความสามารถในการคิดระดับสูง (Higher order thinking) ที่ประกอบด้วยทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า รวมทั้งทักษะการคิดแก้ปัญหาอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกฝ่ายจะต้องให้ความสนใจ เพราะทักษะและความสามารถในการคิดจะส่งผลถึงการพัฒนาประเทศในทุกด้าน นักการศึกษาและนักคิดในปัจจุบันมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การสอนให้เด็กคิดเป็น มีความสำคัญยิ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งทักษะการคิดและกระบวนการคิดเป็นนามธรรม มีความซับซ้อนคลุมเครือมองเห็นได้ไม่ชัด ซึ่งยากที่จะสอนให้กระจ่างและได้ผลโดยเร็ว
การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถและทักษะในการคิด
การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถและทักษะในการคิดเป็น เรื่องสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการคิดมีผลโดยตรงต่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข แนวคิดเกี่ยวกับการสอนคิดไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มีการศึกษาวิจัยมานานกว่า 20 ปี ผลการวิจัยต่างๆ สรุปได้ว่า ทักษะในการคิดส่งผลถึงการเรียนรู้ นอกจากนั้นยังมีการวิจัยที่เกี่ยวกับสมองการทำงานของสมองที่ส่งผลถึงพัฒนาการของผู้เรียน รวมทั้งการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของมนุษย์ อันเนื่องมาจากการทำหน้าที่ของสมองซีกซ้ายและซีกขวาที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่าในการจัดการเรียนรู้ควรมุ่งเสริมพัฒนาให้ผู้เรียนได้ใช้สมองทั้งสองซีกอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นถ้าต้องการให้เด็กและเยาวชนเจริญเติบโต และสามารถดำรงชีวิตอย่างสันติสุขในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว พวกเขาจะต้องได้รับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) มีทักษะกระบวนการคิดสำหรับการแสวงหาความรู้ จัดการกับความรู้ และสามารถตัดสินใจที่ดีและถูกต้อง
ทักษะการคิด (Thinking skills) สามารถสอนได้และเรียนรู้พัฒนาให้มีคุณภาพยิ่งๆขึ้นได้ ทักษะการคิด
จะต้องได้รับการสอนและฝึกตั้งแต่ระดับชั้นต้นๆ และต่อเนื่อง ความสามารถในการคิดมีความสำคัญต่อ
สมรรถภาพของการเรียนรู้ ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับการคิดและเทคนิควิธีการเรียนการสอนเพื่อพัฒนา
ทักษะการคิดอย่างต่อเนื่อง การใช้เทคนิควิธีการเรียนรู้ต่างๆ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในวิธีดำเนินการและ
เงื่อนไขก่อนใช้ รวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการคิด และลักษณะสำคัญของทักษะการคิดแต่ละประเภท
การคิดแบบต่างๆ หลักการ แนวคิด วิธีดำเนินการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะกาคิด แต่การได้รู้จักกับวิธีการ
และขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ไม่เพียงพอสำหรับการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะการคิดที่มี
ประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนจะต้องศึกษาทำความเข้าใจกับองค์ประกอบที่
เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้และเทคนิควิธีสอนในการคิดให้ชำนาญ มีความรู้ มีทักษะในการคิดเพื่อที่จะสามารถ
จัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีศักยภาพทั้งทางด้านความรู้และความคิดต่อไป
จากเนื้อหาที่อ่านเป็นการสอนและการพัฒนาการคิดเป็นสิ่งจำเป็นที่จะส่งเสริมสำหรับการศึกษาไทย
เพราะการเรียนการสอนในปัจจุบัน สถานศึกษาเน้นวิชาการที่นักเรียนสามารถเรียนเพื่อสอบผ่านและแข่งขันได้
แต่ในสภาพสังคมที่ต้องให้เด็กคิดแก้ปัญหานำความรู้มาประยุกต์ใช้เด็กยังขาดทักษะในการคิด รู้เพียงทฤษฎี
วิธีการแต่นำมาใช้ไม่เป็น คิดไม่ได้ การเเรียนรู้ของเด็กจึงไม่ถือว่าประสบผลสำเร็จ จึงควรมีการจัดการเรียนรู้ที่
ส่งเสริมการคิด โดยส่งเสริมให้ครูมีความรู้ความเข้าใจในด้านการจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนมี
คุณภาพทั้งความรู้และความคิด และมีศักยภาพที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป

เนื้อหาจาก หนังสือรูปแบบและกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด โดย ผศ.ดร.วัชรา เล่าเรียนดี